ความเป็นมาของบ้านหนังสือชุมชน.....

              จากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติกำหนดให้ปี 2552 - 2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน และกำหนดให้วันที่  2 เมษายน ของทุกปีเป็นวันรักการอ่าน กระทรวงศึกษาธิการโดย สำนักงาน กศน.ได้ดำเนินงานส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้แก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ผ่านแหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชนจังหวัด ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” และห้องสมุดประชาชนอำเภอ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงได้มีแนวคิดที่จะให้มีแหล่งการเรียนรู้อยู่ใกล้บ้านให้มากที่สุดในรูปแบบของบ้านหนังสือชุมชน แต่กว่าจะมาเป็นบ้านหนังสือชุมชนได้ในทุกวันนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อและรูปแบบการดำเนินงานมาหลายยุคหลายสมัยโดยมีจุดเริ่มต้นคล้ายกันคือ "ยึดคนในชุมชนเป็นหลัก"

 ในอดีต สำนักงาน กศน. เคยมีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร จนถึงสมัยหนึ่งได้มีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 สำนักงาน กศน.ได้โอนที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านให้แก่องค์การปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งมีความจำเป็นต้องใช้งบเพื่อแก้ไขพัฒนางานด้านอื่นทำให้การดำเนินงานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องแต่ทว่าบทบาทและความรับผิดชอบด้านการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาก็ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงาน กศน. จึงไม่อาจจะเพิกเฉยได้เพราะสถิติการไม่รู้หนังสือของคนไทยกลับกลายเป็นเพิ่มขึ้น สำนักงาน กศน. จึงได้คิดพลิกฟื้นที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้านขึ้น ภายใต้กรอบแนวคิดว่า ถ้ามีแหล่งการอ่านในชุมชนที่อยู่ใกล้บ้านอย่างน้อยก็มีแหล่งการอ่านและเป็นฐานการพบปะกันระหว่างคนในชุมชนบวกกับการส่งเสริมการอ่าน ป้องกันการลืมหนังสือ ภายใต้โครงการบ้านหนังสืออัจฉริยะ จำนวน 41,800 แห่ง ในปีงบประมาณ 2556

ในปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลได้ตัดงบประมาณจัดซื้อหนังสือพิมพ์ และนิตยสารของบ้านหนังสืออัจฉริยะ เนื่องจากเห็นว่าภารกิจและการใช้งบประมาณซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงแม้การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลได้ถูกยกเลิกไปแต่ชุมชนยังเห็นความสำคัญและประโยชน์ของบ้านหนังสืออัจฉริยะอยู่ อย่างน้อยก็เป็นแหล่งพบปะพูดคุย จัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน และเป็นแหล่งดึงดูดคนในชุมชนให้หันมาสนใจเรื่องการอ่านได้บางส่วน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้มีแหล่งเพื่อปลูกฝังการอ่านให้กับลูกหลานของตนในอนาคต สำนักงาน กศน. จึงได้สานต่อโครงการดังกล่าว โดยปรับเปลี่ยนชื่อ “บ้านหนังสืออัจฉริยะ” เป็น “บ้านหนังสือชุมชน” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้มีจิตอาสาดำเนินงานภายใต้ศักยภาพของตนที่มีอยู่ตามความสมัครใจ จากแรงศรัทธา พละกำลังทรัพย์ กำลังใจ และกำลังกายของผู้มีจิตอาสา จึงทำให้บ้านหนังสือชุมชนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน บางแห่งอาจมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจากการมีส่วนร่วมของเครือข่ายที่มุ่งมั่นร่วมกันพัฒนาให้บ้านหนังสือชุมชนสู่ห้องสมุดชุมชนในอนาคต โดยมีสำนักงาน กศน. (ชื่อปัจจุบันคือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้) เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน